วันพฤหัสบดีที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2552

คู่มือ รพ สต 11 ภารกิจหลักบท 3 สุขภาพช่องปาก

การจัดบริการ
สุขภาพช่องปาก
100 คู่มือการให้บริการของ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
แนวคิดการทำงาน : การจัดบริการสุขภาพช่องปากในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ
ระดับตำบล หมายถึง การดูแลสุขภาพช่องปากให้กับประชาชน ทั้งในมิติส่งเสริมสุขภาพ
ป้องกันโรค รักษาพยาบาลและฟื้นฟูสภาพ โดยยึดหลักการของเวชศาสตร์ครอบครัว มีการ
ดูแลแบบองค์รวม ตั้งแต่การประเมินสภาพรอบด้าน ครอบคลุมประเด็นสำคัญ ทั้งกาย ใจ
สังคม และสิ่งแวดล้อม มีการวินิจฉัยทั้งในมิติบุคคล ครอบครัว และชุมชน ตลอดจนมีการ
เปิดโอกาสให้ผู้รับบริการ / ครอบครัว / ชุมชน มีส่วนร่วมในกระบวนการดูแลสุขภาพ
ในการออกแบบการจัดระบบบริการสุขภาพช่องปาก ต้องสอดคล้องเหมาะสมกับ
บริบทในแต่ละพื้นที่ ผสมผสานกับงานสุขภาพอื่นๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่
ครอบคลุมทั้งการส่งเสริมทันตสุขภาพ ทันตกรรมป้องกัน ทันตกรรมบำบัด และการฟื้นฟู
สภาพในช่องปาก ซึ่งจะต้องมีการประสานงาน จัดระบบบริการเชื่อมโยงกับโรงพยาบาล
แม่ข่ายเพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลที่ต่อเนื่อง
นอกจากนี้ การจัดบริการสุขภาพช่องปากในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล
จะต้องตอบสนองปัญหาของพื้นที่ จึงต้องมีการประเมินสภาวะช่องปากของประชาชนรวมทั้ง
ปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อสุขภาพช่องปาก มีกระบวนการนำหน่วยงาน / ภาคีต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
มาร่วมวางแผนและแก้ไขปัญหา สร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความ
ภารกิจหลักบทที่ 3 ภารกิจของ รพ.สต. 101
สามารถของประชาชน / ครอบครัว / ชุมชน ในการจัดการวิถีชีวิต และปัจจัยแวดล้อมให้
เอื้อต่อการมีสุขภาพช่องปากที่ดี และการพึ่งตนเองได้
เป้าหมาย : เพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพช่องปากของประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบ
1. มีการดูแลสุขภาพช่องปาก โดยใช้แนวทางการดูแลแบบองค์รวม ผสมผสาน ต่อ
เนื่อง ตั้งแต่แรกเกิดจนสิ้นอายุขัย
2. พัฒนาทักษะ เพิ่มศักยภาพในการดูแลตนเองของประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบ
เพื่อให้ประชาชนสามารถดูแลตนเองได้ทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว และชุมชน
โดยมีหลักการทำงานดังนี้คือ การบูรณาการกับงานส่งเสริมสุขภาพ และพัฒนาการมี
ส่วนร่วมของหน่วยงาน / ภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง / ภาคประชาชน
การจัดระบบบริการสุขภาพช่องปากตามกลุ่มอายุ
1. กลุ่มหญิงตั้งครรภ์
1. จัดทำฐานข้อมูลสุขภาพช่องปากหญิงตั้งครรภ์ในเขตรับผิดชอบร่วมกับโรงพยาบาล
แม่ข่าย ซึ่งควรทำข้อมูลให้เป็นปัจจุบันทุกเดือน
2. บูรณาการงานส่งเสริมทันตสุขภาพในคลินิกฝากครรภ์ โดยมีกิจกรรมต่อไปนี้
• ตรวจสุขภาพช่องปาก เพื่อประเมินพฤติกรรมการกินอาหารและการทำความ
สะอาดช่องปากหญิงตั้งครรภ์ทุกคน เพื่อวางแผนการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
(ควรตรวจสุขภาพช่องปากตั้งแต่ครั้งแรกที่หญิงตั้งครรภ์มาฝากครรภ์ที่
โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล)
• ให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพช่องปากตนเอง รวมทั้งฝึกทักษะในการ
ทำความสะอาดช่องปาก เช่น การแปรงฟัน การใช้ไหมขัดฟัน ฯลฯ
102 คู่มือการให้บริการของ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
• ส่งต่อหญิงตั้งครรภ์ที่มีปัญหาสุขภาพช่องปากไปรับการรักษาทางทันตกรรมที่
โรงพยาบาลแม่ข่าย (ช่วงอายุครรภ์ที่เหมาะสมในการรักษาทางทันตกรรมคือ
ช่วงอายุครรภ์ 4-6 เดือน)
โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบลที่มีทันตาภิบาลประจำ จะจัดบริการทันตกรรม
พื้นฐาน เช่น ขัดฟันและขูดหินน้ำลายตามความจำเป็น มีการติดตามกลุ่มหญิง
ตั้งครรภ์ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง รวมทั้งจัดกิจกรรมกลุ่มเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้าน
ทันตสุขภาพ
สำหรับโรงพยาบาลแม่ข่าย จะต้องจัดช่องทางการให้บริการเพื่อรองรับการส่งต่อหญิง
ตั้งครรภ์จากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล หรือจัดบริการทันตกรรมเคลื่อนที่
ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล ให้คำปรึกษาและสนับสนุนองค์ความรู้ทางวิชาการ
ในการดูแลทันตสุขภาพหญิงตั้งครรภ์ จัดระบบข้อมูลการดูแลทันตสุขภาพหญิงตั้งครรภ์ให้
เชื่อมโยงกันเพื่อทำให้สามารถดูแลหญิงตั้งครรภ์ได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสนับสนุนน้ำยา
ย้อมสีฟัน/ยาเม็ดย้อมสีฟัน เป็นต้น
2. กลุ่มเด็กอายุ 0-3 ปี
1. สำรวจ และจัดทำฐานข้อมูลสุขภาพช่องปากกลุ่มเด็กอายุ 0-3 ปี รวมทั้งแบบแผน
การเลี้ยงดูเด็กของผู้ปกครองซึ่งมีผลต่อสุขภาพเด็ก
2. บูรณาการงานส่งเสริมทันตสุขภาพในคลินิกเด็กดี โดยมีกิจกรรมต่อไปนี้
• ตรวจสุขภาพช่องปากเด็กทุกคน ดูความผิดปกติที่อาจพบได้ เช่น ปากแหว่ง
เพดานโหว่ ฝ้าขาวที่เยื่อบุช่องปากและลิ้น ตรวจคราบจุลินทรีย์บริเวณคอฟัน
หน้าบนรวมทั้งฟันที่เริ่มผุ (ลักษณะจะเป็นฝ้าขาว) ในกรณีที่ฟันขึ้นแล้ว
• ให้คำแนะนำแก่ผู้ปกครองเกี่ยวกับเรื่องอาหาร รวมทั้งฝึกทักษะการแปรงฟัน
การใช้ไหมขัดฟันเพื่อทำความสะอาดฟันเด็ก
ภารกิจหลักบทที่ 3 ภารกิจของ รพ.สต. 103
• ส่งต่อเด็กที่เป็นกลุ่มเสี่ยงโรคฟันผุหรือมีปัญหาทางทันตสุขภาพไปรับบริการ
ทันตกรรมที่โรงพยาบาลแม่ข่าย เช่น ทาฟลูออไรด์วานิช อุดฟัน รักษาโพรง
ประสาทฟัน ฯลฯ
โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบลที่มีทันตาภิบาลประจำ จะจัดบริการทันตกรรม
พื้นฐาน เช่น ทาฟลูออไรด์วานิช มีการติดตาม (Follow up) กลุ่มเสี่ยง ให้คำปรึกษา
ผู้ปกครอง / ฝึกทักษะการตรวจฟันเด็กและการทำความสะอาดช่องปากเด็ก ตลอดจนเยี่ยม
บ้านเด็กที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น พิการ cleft palate malnutrition ฯลฯ ร่วมกับทีม
สหวิชาชีพ
สำหรับโรงพยาบาลแม่ข่าย ต้องจัดช่องทางการให้บริการเพื่อรองรับการส่งต่อเด็กที่มี
ปัญหาทันตสุขภาพจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล ให้คำปรึกษาและสนับสนุน
องค์ความรู้ทางวิชาการในการดูแลทันตสุขภาพเด็ก รวมทั้งสนับสนุนแปรงสีฟันเด็กและ
ฟลูออไรด์วานิช เป็นต้น
3. กลุ่มผู้สูงอายุ
1. จัดทำฐานข้อมูลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ และมีการทำข้อมูลให้เป็นปัจจุบันอย่าง
น้อยทุก 6 เดือน
2. บูรณาการงานส่งเสริมทันตสุขภาพในงานส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุรายบุคคล โดยมี
กิจกรรมต่อไปนี้
• ให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพช่องปาก และฝึกทักษะการใช้อุปกรณ์ทำความ
สะอาดช่องปากนอกเหนือจากแปรงสีฟัน เช่น ไม้จิ้มฟัน แปรงซอกฟัน ไหมขัด
ฟัน (เลือกใช้ตามความเหมาะสมกับสภาพในช่องปากของผู้สูงอายุ) ผู้สูงอายุที่
ใช้มือไม่ถนัด ควรแนะนำให้ดัดแปลงอุปกรณ์การทำความสะอาดช่องปากอย่าง
104 คู่มือการให้บริการของ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
เหมาะสมหรือใช้แปรงไฟฟ้า รวมทั้งการดูแลรักษาฟันเทียมสำหรับผู้สูงอายุที่ใส่
ฟันเทียม
• ตรวจสุขภาพช่องปากร่วมกับตรวจสุขภาพประจำปี รวมทั้งส่งต่อผู้สูงอายุที่มี
ปัญหา หรือเป็นกลุ่มเสี่ยงไปรับบริการทันตกรรมตามความจำเป็น
• ส่งต่อผู้สูงอายุที่ไม่มีฟันไปรับการใส่ฟันเทียมที่โรงพยาบาลแม่ข่าย
3. บูรณาการงานชมรมผู้สูงอายุ โดยมีกิจกรรมต่อไปนี้
• จัดทำฐานข้อมูลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ โดยชมรมผู้สูงอายุมีส่วนร่วม
• บูรณาการงานทันตสุขภาพกับงานส่งเสริมสุขภาพในชมรมผู้สูงอายุ โดยมี
กิจกรรมดังนี้
• ตรวจสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุทุกคนปีละ 1 ครั้ง
• ส่งต่อผู้สูงอายุที่มีปัญหาทันตสุขภาพ หรือเป็นกลุ่มเสี่ยงไปรับบริการทาง
ทันตกรรม
• เป็นที่ปรึกษาให้กับแกนนำผู้สูงอายุและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในการจัด
กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพช่องปากในชมรมผู้สูงอายุ
• พัฒนาศักยภาพแกนนำชมรมผู้สูงอายุ ในการส่งเสริมทันตสุขภาพในชมรมฯ
รวมทั้งจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการมีสุขภาพช่องปากที่ดี เช่น การแปรงฟัน
หลังอาหาร การจัดอาหาร / เครื่องดื่มที่มีประโยชน์ และไม่เป็นโทษต่อฟัน
สร้างนโยบายส่งเสริมทันตสุขภาพในชมรมผู้สูงอายุ ฯลฯ
• ประสานงาน สื่อสารข้อมูลด้านทันตสุขภาพกับผู้สูงอายุ รวมทั้งให้การสนับสนุน
การส่งเสริม ป้องกันทันตสุขภาพให้กับผู้สูงอายุ
โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบลที่มีทันตาภิบาลประจำ จะจัดบริการทันตกรรม
ป้องกันให้กับผู้สูงอายุ ได้แก่ การใช้ฟลูออไรด์ในผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงต่อรากฟันผุ การขูด
หินน้ำลายให้ผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงต่อโรคปริทันต์อักเสบ มีการติดตามกลุ่มเสี่ยง ตลอดจน
ภารกิจหลักบทที่ 3 ภารกิจของ รพ.สต. 105
เยี่ยมบ้านร่วมกับทีมสหวิชาชีพ เพื่อให้คำแนะนำและฝึกทักษะผู้สูงอายุ/ผู้ดูแลในการดูแล
สุขภาพช่องปาก
สำหรับโรงพยาบาลแม่ข่าย จะต้องจัดช่องทางการให้บริการเพื่อรองรับการส่งต่อ
ผู้สูงอายุ จากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล หรือจัดบริการทันตกรรมเคลื่อนที่ ที่
โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล ให้คำปรึกษาและสนับสนุนองค์ความรู้ทางวิชาการ
ในการดูแลทันตสุขภาพผู้สูงอายุ นิเทศติดตามการดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพช่องปาก ของ
โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล จัดระบบข้อมูลการดูแลผู้สูงอายุให้เชื่อมโยงกันเพื่อ
ทำให้สามารถดูแลผู้สูงอายุได้อย่างต่อเนื่อง
การจัดบริการสุขภาพช่องปากในสถานการศึกษา
1. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก / โรงเรียนอนุบาล
1. จัดทำฐานข้อมูลสุขภาพช่องปากเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก / โรงเรียนอนุบาล
2. บูรณาการงานทันตสุขภาพกับงานส่งเสริมสุขภาพในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โดยมี
กิจกรรมดังต่อไปนี้
• ตรวจสุขภาพช่องปากเด็กทุกคนปีละ 2 ครั้ง เพื่อเฝ้าระวังทันตสุขภาพในกลุ่ม
เด็กปฐมวัย
• ส่งต่อเด็กที่มีปัญหาทันตสุขภาพ หรือเป็นกลุ่มเสี่ยงไปรับการรักษาทาง
ทันตกรรม
• ให้คำปรึกษาครูประจำชั้นอนุบาล/พี่เลี้ยงศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้สามารถจัด
กิจกรรมส่งเสริมทันตสุขภาพในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก/โรงเรียนอนุบาล
3. สนับสนุนครูโรงเรียนอนุบาล/พี่เลี้ยงศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ในการจัดกิจกรรมส่งเสริม
ทันตสุขภาพในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก/โรงเรียนอนุบาล รวมทั้งจัดสภาพแวดล้อมให้
เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดี เช่น กิจกรรมแปรงฟันหลังอาหารกลางวัน จัดหาอาหาร/
106 คู่มือการให้บริการของ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
เครื่องดื่มที่มีประโยชน์และไม่เป็นโทษต่อฟัน สร้างนโยบายส่งเสริมทันตสุขภาพใน
โรงเรียน / ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ฯลฯ
4. ประสานงาน สื่อสารข้อมูลด้านทันตสุขภาพกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
องค์กรชุมชน ให้สนับสนุนการส่งเสริมทันตสุขภาพเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เช่น
จัดทำที่แปรงฟันและอุปกรณ์ในการแปรงฟันให้เด็ก จัดอาหารว่างที่เป็นผลไม้
พื้นบ้านให้เด็ก สร้างข้อกำหนดร่วมกันไม่ให้นำขวดนมและขนมกรุบกรอบมาที่
ศูนย์เด็ก
โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบลที่มีทันตาภิบาลประจำ จะจัดบริการทันตกรรม
พื้นฐาน เช่น ทาฟลูออไรด์วานิช อุดฟัน ขัดฟันและขูดหินน้ำลาย มีการติดตามกลุ่มเสี่ยง
โรคฟันผุ ให้คำปรึกษาครูประจำชั้นอนุบาล/พี่เลี้ยงศูนย์เด็ก รวมทั้งฝึกทักษะการตรวจฟัน
เด็กและการสอนแปรงฟันเด็ก
สำหรับโรงพยาบาลแม่ข่าย ต้องจัดช่องทางการให้บริการเพื่อรองรับการส่งต่อเด็กที่มี
ปัญหาทันตสุขภาพจาก รพ.สต. ให้คำปรึกษาและสนับสนุนองค์ความรู้ทางวิชาการในการ
ดูแลทันตสุขภาพเด็ก จัดระบบข้อมูลการดูแลทันตสุขภาพเด็กให้เชื่อมโยงกัน เพื่อทำให้
สามารถดูแลเด็กได้อย่างต่อเนื่อง
2. โรงเรียนประถมศึกษา
1. จัดทำฐานข้อมูลสุขภาพช่องปากกลุ่มนักเรียนประถมศึกษา
2. บูรณาการงานสุขภาพช่องปากกับงานส่งเสริมสุขภาพในโรงเรียนประถมศึกษาตาม
หลักการของโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ โดยมีกิจกรรมดังต่อไปนี้
• ตรวจสุขภาพช่องปากนักเรียนทุกคนปีละ 2 ครั้ง เพื่อเฝ้าระวังทางทันตสุขภาพ
• ส่งต่อนักเรียนที่มีปัญหาทันตสุขภาพหรือเป็นกลุ่มเสี่ยงไปรับการรักษาทาง
ทันตกรรม
ภารกิจหลักบทที่ 3 ภารกิจของ รพ.สต. 107
• ให้คำปรึกษาครูอนามัย ให้สามารถจัดกิจกรรมส่งเสริมทันตสุขภาพในโรงเรียน
• สนับสนุนให้โรงเรียนมีการจัดการเรียนรู้เกี่ยวกับสุขภาพช่องปากของเด็ก
นักเรียนตามช่วงวัย และเป็นไปตามหลักสูตรการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน
• กระตุ้นให้โรงเรียนจัดการสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อสุขภาพช่องปาก ได้แก่ การมี
นโยบายสาธารณะที่จำกัดอาหารที่เสี่ยงต่อสุขภาพช่องปาก การจัดให้มีส่วนร่วม
ของผู้ปกครองและชุมชนในการจัดการสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมกับการดูแล
สุขภาพช่องปากของเด็ก
• ติดตามการดูแลสุขภาพช่องปากของเด็กที่บ้านร่วมกับกิจกรรมการเยี่ยมบ้าน
3. สนับสนุนครูอนามัยในการจัดกิจกรรมส่งเสริมทันตสุขภาพในโรงเรียน รวมทั้งจัด
สภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดี เช่น ตรวจฟันนักเรียน กิจกรรมแปรงฟัน
หลังอาหารกลางวัน ควบคุมการจำหน่ายอาหาร/เครื่องดื่มที่มีโทษต่อฟัน การ
ตรวจปริมาณฟลูออไรด์ในน้ำ สร้างนโยบายส่งเสริมทันตสุขภาพในโรงเรียน การ
อบรมผู้นำนักเรียน ฯลฯ
4. ประสานงาน สื่อสารข้อมูลด้านทันตสุขภาพของนักเรียนกับครู / ผู้บริหารโรงเรียน
ให้สนับสนุนการส่งเสริมทันตสุขภาพในโรงเรียน
รพ.สต. ที่มีทันตาภิบาลประจำ จะจัดบริการทันตกรรมพื้นฐาน เช่น การตรวจ
สุขภาพช่องปากเด็กอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เคลือบหลุมร่องฟัน อุดฟัน ขัดฟัน ขูดหินน้ำลาย
การใช้ฟลูออไรด์เฉพาะที่ในรายที่จำเป็นเป็นต้น มีการติดตามกลุ่มเสี่ยงโดยเฉพาะโรคฟันผุ
การจัดให้มีโครงการดูแลกลุ่มประชากรเสี่ยงตามเงื่อนไขและความเหมาะสม ให้คำปรึกษา
ครูประจำชั้น/ครูอนามัย รวมทั้งฝึกทักษะการตรวจฟันเด็กและการสอนแปรงฟัน
สำหรับโรงพยาบาลแม่ข่าย ต้องจัดช่องทางการให้บริการเพื่อรองรับการส่งต่อเด็กที่มี
ปัญหาทันตสุขภาพจาก รพ.สต. หรือจัดบริการทันตกรรมเคลื่อนที่ที่ รพ.สต. ให้คำปรึกษา
108 คู่มือการให้บริการของ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
และสนับสนุนองค์ความรู้ทางวิชาการในการดูแลทันตสุขภาพเด็ก จัดระบบข้อมูลการดูแล
ทันตสุขภาพ นักเรียนให้เชื่อมโยงกันเพื่อทำให้สามารถดูแลได้อย่างต่อเนื่อง ให้การ
สนับสนุนการจัดทำโครงการเพื่อแก้ไขปัญหา รวมทั้งสนับสนุนครุภัณฑ์/เครื่องมือทาง
ทันตกรรม/วัสดุทันตกรรมที่จำเป็น รวมทั้งแปรงสีฟัน น้ำยา/ยาเม็ดย้อมสีฟัน แบบจำลอง
สอนแปรงฟัน เป็นต้น
3. โรงเรียนมัธยมศึกษา
1. จัดทำฐานข้อมูลสุขภาพช่องปากกลุ่มนักเรียนมัธยมศึกษา
2. บูรณาการงานทันตสุขภาพกับงานส่งเสริมสุขภาพในโรงเรียนมัธยมศึกษา โดยมี
กิจกรรมดังต่อไปนี้
• ตรวจสุขภาพช่องปากนักเรียนทุกคนปีละ 1 ครั้ง
• ส่งต่อนักเรียนที่มีปัญหาทันตสุขภาพหรือเป็นกลุ่มเสี่ยงไปรับการรักษาทาง
ทันตกรรม
• ให้คำปรึกษาครูอนามัย ให้สามารถจัดกิจกรรมส่งเสริมทันตสุขภาพในโรงเรียน
3. สนับสนุนครูอนามัยในการจัดกิจกรรมส่งเสริมทันตสุขภาพในโรงเรียน รวมทั้งจัด
สภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดี เช่น การกระตุ้นให้มีการใช้สมุดบันทึก
สุขภาพด้วยตนเอง การตรวจฟันนักเรียน ควบคุมการจำหน่ายอาหาร/เครื่องดื่มที่
มีโทษต่อฟัน การตรวจปริมาณฟลูออไรด์ในน้ำ สร้างนโยบายส่งเสริมทันตสุขภาพใน
โรงเรียน ฯลฯ
4. สนับสนุนให้มีกิจกรรมการรวมกลุ่มของนักเรียนและเยาวชน ในรูปแบบของชมรม
ต่างๆ ตามแนวทางของกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนภายในโรงเรียน เพื่อให้เกิดการ
พัฒนาการดูแลสุขภาพด้วยตนเองและมีการปลูกฝังและสร้างกระแสสุขภาพใน
กลุ่มเยาวชน
5. ประสานงาน สื่อสารข้อมูลด้านทันตสุขภาพนักเรียนกับครู / ผู้บริหารโรงเรียน ให้
สนับสนุนการส่งเสริมทันตสุขภาพในโรงเรียน
ภารกิจหลักบทที่ 3 ภารกิจของ รพ.สต. 109
รพ.สต. ที่มีทันตาภิบาลประจำ จะจัดบริการทันตกรรมพื้นฐาน เช่น อุดฟัน เคลือบ
หลุมร่องฟัน (ฟันกรามซี่ที่ 2 ในกลุ่มชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1) ขัดฟันและขูดหินน้ำลาย
เป็นต้น ให้คำปรึกษาครูอนามัยในการจัดกิจกรรมส่งเสริมทันตสุขภาพในโรงเรียนมัธยมศึกษา
สำหรับโรงพยาบาลแม่ข่าย ต้องจัดช่องทางการให้บริการเพื่อรองรับการส่งต่อเด็กที่มี
ปัญหาทันตสุขภาพจาก รพ.สต. หรือจัดบริการทันตกรรมเคลื่อนที่ ที่รพ.สต.จัดระบบข้อมูล
การดูแลทันตสุขภาพเด็กให้เชื่อมโยงกัน เพื่อทำให้สามารถดูแลเด็กได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง
สนับสนุนแปรงสีฟัน ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ น้ำยา/ยาเม็ดย้อมสีฟัน เป็นต้น
การสนับสนุนให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพช่องปาก
1. จัดทำฐานข้อมูลหมู่บ้าน อสม. แกนนำต่างๆ ในชุมชน ในเขตรับผิดชอบ
2. บูรณาการงานทันตสุขภาพกับงานส่งเสริมสุขภาพในชุมชน ผ่าน อสม. กลุ่มสตรี
ชมรมผู้สูงอายุ แกนนำในชุมชน เพื่อร่วมค้นหาเด็กที่มีความเสี่ยงต่อฟันผุ และให้คำแนะนำ
ในการดูแลสุขภาพช่องปาก และไปรับบริการทันตกรรมตามสิทธิประโยชน์ที่แต่ละกลุ่มควร
ได้รับ
3. สนับสนุนให้มีการจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคในช่องปาก
ของชุมชน เช่น การดูแลขนมที่จำหน่ายในร้านค้าหมู่บ้าน การตรวจปริมาณฟลูออไรด์ใน
น้ำดื่มในพื้นที่ที่มีปริมาณฟลูออไรด์ในน้ำสูง
110 คู่มือการให้บริการของ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
กรณีตัวอย่าง : การปรับสภาพแวดล้อมเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงในชุมชน
กรณีตัวอย่างที่ 1 :
การจัดสิ่งแวดล้อมในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลผาสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดน่าน
ภายหลังจาก อบต. ได้รับการถ่ายโอนให้ดูแลศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ซึ่งในขณะนั้น
อบต.ไม่มีความรู้ในการดูแลเด็ก จึงได้พยายามหาเครือข่าย ประกอบด้วย สาธารณสุข ผู้นำ
ชุมชน วัด เจ้าอาวาส จัดทำโครงการที่มีลักษณะคล้ายงานวิจัย เริ่มจากการสำรวจข้อมูล
ร่วมกันเพื่อนำข้อมูลจริงนั้นมาพูดกับชุมชน นำสถานการณ์ที่เป็นปัญหาในชุมชนในประเด็น
เรื่องพฤติกรรมการบริโภคเล่าสู่ชุมชน ซึ่งเป็นที่มาของมาตรการในการดำเนินงานในชุมชน
โดยชุมชนเป็นผู้เสนอ อาทิ การจัดให้ผู้ปกครองมีความรู้เรื่องอาหาร การดูแลปากและฟัน
ของบุตร เมื่อสิ้นสุดโครงการระยะที่ 1 ยังได้ดำเนินงานต่อเนื่องมาจนกระทั่งปัจจุบันปีที่
4 ผลที่เกิดขึ้นคือ สุขภาพในช่องปากของเด็กดี 100% นอกจากนี้เราได้เครือข่ายที่ทำงาน
ด้วยใจ ช่วยจัดการเรื่องโปรแกรมสำเร็จรูป ทำให้เกิดการประมวลผลสุขภาพของเด็กในด้าน
ภาวะโภชนาการได้ดีขึ้น และนำไปสู่การจัดการเป็นรายกลุ่ม
ปัจจุบันได้มีการพัฒนาสื่อการเรียนการสอนในกลุ่มเด็ก โดยเริ่มจากให้เด็กเลือกสิ่งที่
เขาชอบ แล้วผู้ดูแลเด็กนำมาประกอบอาหารให้เด็กรับประทาน พร้อมๆ กับส่งเสริมให้เด็ก
รับประทานผลไม้และวัตถุดิบของอาหารที่มีอยู่ในชุมชน ซึ่งปลอดสารพิษ ใช้มาตรการบังคับ
ไม่ให้มีขวดนมในศูนย์เด็กเล็ก ไม่ให้ให้มีขนมกรุบกรอบ ไม่มีน้ำอัดลม และไม่ให้มีนม
รสหวาน นอกจากนี้ยังมีการสร้างนิสัยการบริโภค การดูแลสุขภาพปากและฟัน โดยจัด
กิจกรรมให้เด็กและผู้ปกครองรู้ว่าการแปรงฟันไม่สะอาดจะเกิดอะไรขึ้น โดยจัดกิจกรรมให้
เห็นจริง เช่น การใช้น้ำยาย้อมสีฟันภายหลังการแปรงฟัน ชี้ให้ผู้ปกครองเห็นว่าเด็กที่
แปรงฟันไม่สะอาดจะมีหินปูนเกาะ เป็นต้น
ภารกิจหลักบทที่ 3 ภารกิจของ รพ.สต. 111
การเฝ้าระวังเรื่องการบริโภคน้ำตาลในศูนย์เด็กเล็กที่ดำเนินการตามที่กล่าวไปแล้ว
คือการใช้มาตรการบังคับ ซึ่งการสร้างการยอมรับให้เกิดในผู้ปกครองคือ การให้ผู้ปกครอง
วิเคราะห์ คำนวณด้วยตนเอง เช่น เด็กชอบดื่มน้ำส้มขวด ในน้ำส้มมีน้ำตาลเท่าไหร่ นอก
เหนือจากน้ำส้ม บริโภคอะไรอีก แล้วตักน้ำตาลให้ผู้ปกครองเห็นจริงว่าปริมาณน้ำตาลที่เด็ก
บริโภคต่อวันนั้นเท่าไร แล้วสะสมมานานเท่าไหร่ อนาคตจะเกิดอะไรขึ้น ชี้ให้เขาเห็นจริง
ลักษณะการจัดกระบวนการเรียนการสอนให้แก่เด็ก สอนจากของจริง ใช้ผักเป็น
อุปกรณ์การสอน แล้วนำผักที่สอนนั้นไปประกอบอาหาร หรือกระทั่งการจัดทำขนมที่คนใน
ท้องถิ่นชอบบริโภค ก็ใช้หลักการสอนโดยให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วม บนพื้นฐานการเล่นที่ทำให้
เกิดการเรียน
กรณีตัวอย่างที่ 2 :
การจัดการสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนบ้านโสกน้ำขาว อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี
(ประเด็นการจัดระเบียบร้านค้าในโรงเรียน)
การจัดระเบียบร้านค้า เป็นการจัดการให้แม่ค้าในโรงเรียนจัดระเบียบอาหาร ที่แยกให้
เห็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ มีคุณค่าทางโภชนาการแต่เสี่ยงต่อการเกิดโรคฟันผุมาก เสี่ยงปาน
กลาง เสี่ยงน้อย เน้นหลักการไม่ห้ามเด็กกินขนมแต่ให้กินเป็น รู้จักเลือก อย่างไรก็ตาม ใน
โรงเรียนมีการจัดการให้มีธนาคารผลไม้ ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกันว่า เด็กต้องไม่นำเงินมา
โรงเรียนเกินวันละ 10 บาท ตัด 2 บาทเข้าธนาคารผลไม้ อีก 5 บาทเป็นเงินออมใน
ธนาคารออมทรัพย์ ที่เหลือ 3 บาทให้เด็กใช้โดยอิสระ ซึ่งก็พบว่าเด็กเหลือกลับบ้าน
ที่มาที่ไปของการจัดการลักษณะดังกล่าวข้างต้น มาจากปัญหาสุขภาพช่องปากของ
เด็กนักเรียน ทั้งที่สมัยก่อนรุ่นปู่ย่า ตา ยาย ก็ไม่ผุ แต่ปัจจุบันพบปัญหาฟันผุในกลุ่มเด็กมาก
สาเหตุหนึ่งมาจากการบริโภคขนมที่ซึ่งเป็นของคู่กับกับเด็ก อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานนี้
112 คู่มือการให้บริการของ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
ยึดหลักการไม่ห้ามกิน แต่ให้รู้จักเลือก และให้ผู้ปกครองตลอดจนแม่ค้ามีส่วนร่วมในการ
กำหนดมาตรการ โดยกิจกรรมหลักในโครงการ ประกอบด้วย การสัมมนาครู ผู้ปกครอง
เพื่อชี้ให้เห็นปัญหาและรู้ที่มาของปัญหาที่เกิดขึ้นในกลุ่มเด็ก ร่วมหาแนวทางการแก้ปัญหา
ป้องกัน จากนั้นเสริมความรู้ให้กับเด็กโดยจัดอบรมแล้วใช้สัญลักษณ์สีเขียว เหลือง แดงเป็น
ตัวจำแนกเพื่อให้ง่ายสำหรับเด็กในการเลือกบริโภค นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมการรักษาให้กับ
เด็กที่มีปัญหา และอีกหนึ่งกระบวนการสำคัญคือ การนิเทศติดตาม ที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุข
ต้องเข้าไปสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำให้ครูอุ่นใจว่าเอาจริงเอาจัง มิใช่ผลักภาระให้ครู
ผลที่เกิดขึ้นจากโครงการที่วัดได้คือ พบว่านักเรียนมีปัญหาฟันผุน้อยลง และมีการเฝ้า
ระวังฟันแท้ในเด็กตั้งแต่อายุ 6 ปีขึ้นไป (ฟันกรามแท้ซี่ที่ 1 เริ่มขึ้น) นอกจากนี้ ก็มีการ
ติดตามพฤติกรรมการบริโภคของเด็ก พบว่าเด็กมีพฤติกรรมการบริโภคผลไม้มากขึ้น แต่ยัง
มิได้รวบรวมเป็นตัวเลขชัดเจน ในส่วนแม่ค้าเสียผลประโยชน์หรือไม่นั้น ผู้ดำเนินโครงการ
ชี้แจงว่าไม่เกิดผลกระทบ เนื่องจากมาตรการดำเนินงานในโครงการนั้นเสนอมาจากกลุ่ม
แม่ค้าและผู้ปกครองเอง มีสัญญาข้อตกลงในการร่วมกันทำให้สุขภาพเด็กดีขึ้น
กรณีตัวอย่างที่ 3 :
เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ตำบลเมืองหม้อ อำเภอเมือง จังหวัดแพร่
จากการเข้าร่วมดำเนินกิจกรรมเด็กไทยไม่กินหวานของกองทันตสาธารณสุข เมื่อปี
พ.ศ.2547 เข้าร่วมกับทีมโรงเรียนบ้านนาจักร ตำบลนาจักร อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ การ
ร่วมงานกับทางโรงเรียนในครั้งนั้น ทำให้ได้เรียนรู้ถึงการเป็นส่วนหนึ่งของทีม ทำให้มองเห็น
ศักยภาพของครูว่า เป็นผู้ที่สามารถรวมทรัพยากรในท้องถิ่น ถ้าสามารถทำให้ครูหรือ
โรงเรียนเกิดความรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของปัญหา วิเคราะห์หาสาเหตุด้วยตนเองและ
ท้ายที่สุดจะทำให้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน
ภารกิจหลักบทที่ 3 ภารกิจของ รพ.สต. 113
ในปี พ.ศ.2548 ได้มีโอกาสร่วมกับทีมโรงเรียนบ้านกาซ้อง ตำบลเมืองหม้อ อำเภอ
เมือง จังหวัดแพร่ เมื่อนำเสนอโครงการเด็กไทยไม่กินหวานให้กับคณะครูและผู้บริหาร
โรงเรียน ผู้บริหารมองว่าเป็นงานที่เจ้าหน้าที่ต้องไปทำเอง จึงได้มีการทบทวนปัจจัยความ
สำเร็จจากงานแรก มีการหาข้อมูลบริบทของโรงเรียน และปัญหาสุขภาพที่เกิดจาก
พฤติกรรมการบริโภค ได้นำเสนอแก่คณะกรรมการของโรงเรียน จากการประชุมครั้งนั้น
ทำให้มีมตินำเสนอให้โรงเรียนเข้าร่วมกิจกรรมเด็กไทยไม่กินหวาน และกำหนดนโยบายให้
เป็นโรงเรียนปลอดขนมกรุบกรอบ ลูกอมและน้ำอัดลม มีการปรับรูปแบบการจำหน่ายขนม
และเครื่องดื่มในโรงเรียน เป็นที่มาของนวัตกรรม “ขนมทางเลือก” เช่น ข้าวปันลุยสวน
จีจ่างกาซ้อง น้ำมะนาวฝาน เป็นต้น
หลังจากดำเนินการได้ 1 ปี ผลคือ นักเรียนมีสุขภาพปากที่ดีและมีพฤติกรรมในการ
เลือกบริโภคขนมและเครื่องดื่มที่ถูกต้อง และสามารถแก้ไขปัญหาภาวะโภชนาการในกลุ่ม
เด็กที่มีปัญหา ท่านกำนันตำบลเมืองหม้อและท่านเจ้าอาวาสวัดกาซ้อง ได้เสนอให้มีการเผย
แพร่ประชาสัมพันธ์ไปยังชุมชน โดยจัดกิจกรรมเรื่องเล่าจากโรงเรียนสู่ชุมชน ในการจัด
กิจกรรมครั้งนั้นเป็นการระดมทุนจากชุมชนเอง ทำให้เจ้าหน้าที่เกิดการเรียนรู้ว่าชุมชนมี
ศักยภาพ การทำงานที่ผ่านมาทำให้เกิดการเปลี่ยนวิธีคิดว่าการเรียนรู้และเข้าใจสภาพ
ชุมชน ไม่ว่าจะเป็นบริบทชุมชน บุคคลที่เกี่ยวข้อง ต้นทุนเดิมที่มีอยู่ในชุมชน เช่น
วัฒนธรรม ประเพณี และความเชื่อ เป็นสิ่งที่ต้องเก็บและรวบรวมมาเป็นข้อมูลพื้นฐาน
ข้อคิดที่ได้จากการทำงานครั้งนั้นคือ เมื่อใดก็ตามที่เราสามารถเป็นคนในชุมชนได้
เมื่อนั้นเราก็จะได้เพื่อนที่สามารถเป็นคู่คิดกลยุทธ์และเพื่อนร่วมงาน ที่จะช่วยให้เราสามารถ
ดำเนินกิจกรรมเราได้สำเร็จ และเมื่อวันหนึ่งที่เราก้าวออกจากชุมชนนั้น ชุมชนก็จะมีความ
เข้มแข็งและทีมงานที่สามารถสานต่องานนั้นได้อย่างยั่งยืนต่อไป
114 คู่มือการให้บริการของ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
กรณีตัวอย่างที่ 4 :
เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานอำเภอเชียงกราน จังหวัดน่าน
จุดเริ่มต้นของโครงการเด็กไทยไม่กินหวาน เกิดจากผู้ใหญ่บ้านบ้านพูลเห็นว่า เด็กๆ
ของหมู่บ้านมีปัญหาขาดสารอาหาร ประกอบกับเห็นว่าแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าวของ
บ้านน้ำคาประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม จึงได้นำปัญหามาพูดคุยกับลูกบ้าน ซึ่งที่
ประชุมของหมู่บ้านเห็นว่า จำเป็นต้องแก้ปัญหาโดยเร็ว และขอให้ผู้ใหญ่บ้านประสานงานกับ
ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน รวมถึงอีก 3 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านคันนา บ้านม่วง และบ้านพญาแก้ว
โดยการนำของผู้นำชุมชนทั้ง 4 หมู่บ้าน ร่วมกับ โรงเรียนไตรมิตรวิทยา ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก
บ้านคันนา สถานีอนามัยตำบลพญาแก้ว และโรงพยาบาลเชียงกลาง ภายใต้การสนับสนุน
ของ นายทรงทรัพย์ พิริยะคุณธร นายอำเภอเชียงกลาง จัดทำโครงการเด็กไทยไม่กินหวาน
ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน โดยอาศัยชุมชนเป็นศูนย์กลางของการแก้ปัญหา
ผู้นำชุมชนทั้ง 4 หมู่บ้านได้ประชุมร่วมกันถึงปัญหาดังกล่าว เมื่อได้ข้อสรุปจึงจัด
ประชุมผู้ปกครอง ผู้ประกอบการร้านค้าในหมู่บ้าน อสม. และผู้นำชุมชน เพื่อให้ผู้เข้าร่วม
ได้วิเคราะห์หาสาเหตุและแนวทางในการแก้ปัญหาเด็กขาดสารอาหาร จนได้แนวทางการแก้
ปัญหาของชุมชน เช่น ขอให้ผู้นำชุมชนทั้ง 4 หมู่บ้าน เจ้าหน้าที่สถานีอนามัยตำบลพญา
แก้วและโรงพยาบาลเชียงกลาง ร่วมกันสำรวจขนมประเภทที่ห้ามขายในหมู่บ้าน 4 ประเภท
ได้แก่ ลูกอม หมากฝรั่ง ขนมถุงกรุบกรอบ และน้ำหวานใส่สี และขอให้โรงพยาบาล
เชียงกลางรับซื้อออกจากร้านค้าของหมู่บ้าน รวมถึงขอความร่วมมือร้านค้า ศูนย์เด็กเล็ก ไม่
นำขนมประเภทที่ห้ามขายมาจำหน่าย นอกจากนี้ ผู้ปกครองต้องดูแลให้บุตรหลานแปรงฟัน
หลังจากรับประทานอาหารทุกครั้ง เป็นต้น
ผลจากการเปลี่ยนแปลงคือ เด็กๆ นำเงินค่าขนม ไปฝากคุณครูเพื่อออมทรัพย์ ทำให้
เกิดการแข่งขันออมเงิน เกิดนโยบายปลอดน้ำอัดลม และลูกอมในการจัดงานหรือกิจกรรม
ภารกิจหลักบทที่ 3 ภารกิจของ รพ.สต. 115
ต่างๆ ของหมู่บ้าน เช่น งานศพ มีการต่อยอดโครงการเด็กไทยไม่กินหวาน ไปสู่การรณรงค์
ปลอดเหล้าในงานศพภายในหมู่บ้าน
กรณีตัวอย่างที่ 5 :
แม่ลูกฟันดีที่ชุมชนหนองตาเข้ม อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์
ปี 2551-2552 งานทันตกรรม ร่วมกับกลุ่มงานเวชปฏิบัติครอบครัวและชุมชน
ดำเนินงานโครงการสายใยรักแห่งครอบครัวในชุมชน ที่หมู่บ้านหนองตาเข้ม หมู่ 11 โดย
ใช้ชื่อว่า “โครงการสายใยรักพันผูกแม่ลูกฟันดี” โดยประสานความร่วมมือกับเครือข่าย
ครอบครัวสายใยรัก องค์การบริหารส่วนตำบล ผู้ปกครองในครอบครัวสายใยรัก อาสาสมัคร
สาธารณสุข ผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำชุมชน การทำงานที่นี่มีเป้าหมายเพื่อลดอัตราการเกิดฟันผุ
ในเด็ก 0-3 ปี ให้ต่ำกว่าร้อยละ 10
กิจกรรมดำเนินงานประกอบด้วย การสำรวจสภาวะทันตสุขภาพในกลุ่มเป็นหมาย
หญิงตั้งครรภ์และเด็ก 0-3 ปี การชี้แจงผลการสำรวจแก่ผู้นำและองค์กรชุมชน การให้
ทันตสุขศึกษา สอนแปรงฟัน การใช้ไหมขัดฟัน ย้อมคราบจุลินทรีย์ฝึกปฏิบัติแปรงฟัน การ
ทาฟลูออไรด์วานิชให้เด็ก เยี่ยมบ้านหลังคลอดกับสหวิชาชีพ จัดประกวดครอบครัวฟันดี
แข่งขันการแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟัน มี อสม.ช่วยตรวจฟันเด็กและมีขอบเขตการรับผิดชอบ
เด็กเป็นคุ้ม รวมทั้งการนัดมารับบริการทันตกรรม หญิงตั้งครรภ์ในโครงการสายใยรักพันผูก
แม่ลูกฟันดี จะได้รับบริการรักษาโรคในช่องปากแบบ complete case ที่โรงพยาบาลทุก
ราย มีการปรับวิธีทำงานโดยการออกปฏิบัติงานในช่วงเย็นเพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่ม
เป้าหมายได้ดีขึ้น
การปฏิบัติงานอย่างจริงจังที่หมู่บ้านหนองตาเข้มได้ผลเป็นที่น่าพอใจ เด็ก 0-3 ปี มี
ฟันผุลดลงจาก ปี 2551 เด็กมีฟันผุ ร้อยละ 33.3 เป็นร้อยละ 19.4 ในปี 2552 ผู้ใหญ่บ้าน
หนองตาเข้มกล่าวชื่นชมการทำงานของทีมว่า
116 คู่มือการให้บริการของ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
“เรื่องสุขภาพช่องปากซึ่งสำคัญมาก คุณหมอเข้ามาตั้งแต่ปีที่แล้ว สมาชิกสายใยรัก
แห่งครอบครัวและเด็กทั้งหมู่บ้าน ตั้งแต่มีฟันขึ้นเรียกมาทาฟลูออไรด์ทุกคน ให้สามีภรรยาที่
ท้อง มาฝึกแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟัน ถ้าเก็บไม่หมด คุณหมอก็อุตส่าห์ตระเวณให้ถึงบ้าน
ทาฟลูออไรด์และแนะนำพร้อม จนลูกหลานเขาฟันไม่ผุ ทุกวันนี้เค้าบอกว่า คุณหมอ ถ้าจะ
เสียค่าใช้จ่ายฉันก็ยอม ขอให้ลูกหลานได้เคลือบฟลูออไรด์ ไหมขัดฟันคุณหมอไม่แจกฉันก็
จะซื้อเอง ด้วยเห็นว่าทั้งแม่และลูกมีสุขภาพช่องปากดีขึ้นไม่ร้องโยเย ชาวบ้านก็เลยบอกว่า
ฉันซื้อเองก็ได้ และคุณหมอก็ได้แนะนำว่า การกินขนมขบเคี้ยว ลูกอมทำให้ฟันผุ การดูด
ขวดนม การทำความสะอาดช่องปากควรทำอย่างไร แนะนำให้กินขนมทำเอง ขนมไทยๆ
แม่บ้านสายใยรักแห่งครอบครัวก็มาหัดทำขนม ไทยๆ เช่น ข้าวต้มมัด ลูกชุบ บัวลอย
หลายอย่าง ให้เด็กเห็นสีสันและอยากทาน รณรงค์หันมาทานขนมไทยไม่ทานขนมกรุบกรอบ
หมอจากโรงพยาบาลนางรองท่านให้ความสำคัญ แนะนำทุกขั้นตอน”
กรณีตัวอย่างที่ 6 :
กิจกรรมการส่งเสริมสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ ที่ชมรมผู้สูงอายุอำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง
ชมรมผู้สูงอายุอำเภอแจ้ห่มเป็นชมรมผู้สูงอายุเข้มแข็งที่มีการทำกิจกรรมต่างๆ
สม่ำเสมอ ได้แก่ กิจกรรมการออกกำลังกาย สัปดาห์ละ 3 วัน คือ จันทร์ พุธ ศุกร์ เวลา
16.00 น. กิจกรรมจิตอาสาทำดีเพื่อพ่อ ร่วมกับโรงพยาบาลแจ้ห่ม โดยผู้สูงอายุทำบุญ
ตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง และไปเยี่ยมผู้ป่วยที่นอนพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล และ
กิจกรรมการทำสมุนไพร ยาหม่องน้ำ ยากันยุง จากสมุนไพร
และเมื่อแกนนำชมรมฯ ได้รับการถ่ายทอดความรู้เรื่องการส่งเสริมสุขภาพช่องปาก
โดยทีมบุคลากรสาธารณสุขของโรงพยาบาลแจ้ห่มเมื่อปี 2549 โดยการอบรมแกนนำ และ
จัดกลุ่มให้ผู้สูงอายุช่วยกันคิดว่า ทำอย่างไรที่จะทำให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพช่องปากที่ดี และทำ
อย่างไรจะให้คนอื่นมีสุขภาพช่องปากที่ดีด้วย กิจกรรมที่ผู้สูงอายุคิดก็คือ
ภารกิจหลักบทที่ 3 ภารกิจของ รพ.สต. 117
• การทำให้ตัวเองมีสุขภาพช่องปากดี โดยมีการจัดอบรมให้ความรู้ การประกวด
แปรงฟันและถอดประสบการณ์คนมีฟันดี การสาธิตดูแลสุขภาพช่องปากและฟัน
และมีการปฏิบัติจริง
• การทำให้คนอื่นมีสุขภาพช่องปากดี โดยผู้สูงอายุถ่ายทอดความรู้ให้กับลูกหลาน
และคนในครอบครัว การจับคู่ตรวจฟัน และการไปแนะนำคนอื่นๆ ให้ช่วยกัน
รักษาฟัน
ชมรมผู้สูงอายุฯ จึงได้มีการจัดกิจกรรมการดูแลตัวเองด้วยการจัดบอร์ดให้ความรู้ที่วัด
ศรีหลวง ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของชมรมฯ สาธิตการแปรงฟันและฝึกปฏิบัติแปรงฟัน การจับคู่
ตรวจฟัน การประกวดฟันสวย และตรวจฟันโดยทันตบุคลากร
ในปีต่อมา (2550) ผู้สูงอายุได้ร่วมกันคิดที่จะไปดูแลสุขภาพช่องปากให้กับคนอื่นๆ
จึงได้จัดกิจกรรมเข้าไปเยี่ยมผู้สูงอายุในชุมชน มีการจัดอบรมความรู้ต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา
ในเรื่องการดูสุขภาพช่องปากในผู้ที่มีปัญหา และคิดค้นแบบตรวจสุขภาพช่องปากให้ง่ายขึ้น
พร้อมทั้งจะมีใบส่งต่อผู้สูงอายุที่ต้องการรักษาทางทันตกรรมมารับการรักษาต่อที่
โรงพยาบาล จนในปี 2551 ผู้สูงอายุได้คิดค้นสมุดนับฟัน เพื่อเป็นสมุดประจำตัวผู้สูงอายุ
ด้านสุขภาพช่องปาก ซึ่งจะมีข้อมูลในเรื่องสุขภาพช่องปาก และความสะอาดของช่องปาก
โดยมีผลการวัดคราบจุลินทรีย์ในผู้สูงอายุ และปัจจุบันผู้สูงอายุอำเภอแจ้ห่ม จะเป็นต้นแบบ
ของการจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพช่องปาก ที่ไปช่วยส่งเสริมสนับสนุนชมรมผู้สูงอายุ
ข้างเคียง หรืออื่นๆ ในพื้นที่ได้เรียนรู้เรื่องการส่งเสริมสุขภาพช่องปาก และทำกิจกรรมกัน
ต่อๆ ไป
การทำกิจกรรมของชมรมผู้สูงอายุอำเภอแจ้ห่ม ดำเนินการภายใต้การขับเคลื่อนของ
แกนนำในชมรม ซึ่งมีคุณพ่อกมล เนตรรัศมี ประธานชมรมฯ เป็นผู้นำ ท่านมีทัศนคติว่า
“เราถือว่าชมรมผู้สูงอายุเป็นวัยที่เปลี่ยน มีสุขภาพถดถอย อวัยวะในช่องปากจะมีการ
118 คู่มือการให้บริการของ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
เปลี่ยนไป เรายึดหลักของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ว่า “เวลาไม่มีฟัน กินอะไรก็ไม่
อร่อย ทำให้ไม่มีความสุข จิตใจก็ไม่สบาย ร่างกายก็ไม่แข็งแรง” เป็นหลักในการดำเนินงาน
ภายใต้การสนับสนุนของกรรมการ และแกนนำในชมรมผู้สูงอายุ ซึ่งบางท่านเป็นข้าราชการ
เกษียณ บางท่านเป็นผู้นำชุมชน ที่ช่วยกันคิดทำกิจกรรมเพื่อส่งเสริมกิจกรรมทั้งทางด้าน
เศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพไปด้วยกัน”
“ตอนนี้ชมรมผู้สูงอายุอำเภอแจ้ห่มได้เปลี่ยนชื่อเป็น ชมรมสานรักผู้สูงวัยอำเภอแจ้ห่ม
มีบทบาทในการดูแลชมรมผู้สูงอายุระดับตำบลของทั้งอำเภอ และชมรมฯ มีคติในการทำ
กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพเพื่อการดูแลตนเอง ภายในกลุ่ม”
กรณีตัวอย่างที่ 7 :
การจัดทำข้อตกลงเพื่อสุขภาพช่องปากดี ที่หมู่บ้านผักกาดหญ้า อำเภอลำปลายมาศ
จังหวัดบุรีรัมย์
ทีมสาธารณสุขอำเภอลำปลายมาศ ได้รวมตัวกันจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพช่องปาก
ให้กับประชาชนที่หมู่บ้านผักกาดหญ้า ซึ่งพบว่า ที่หมู่บ้านนี้มีประชากรผู้สูงอายุกว่า 40%
ส่วนใหญ่เป็นชาวบ้าน สุขภาพไม่ค่อยแข็งแรง และมีโรคประจำตัวค่อนข้างมาก ทั้งผู้เป็น
โรคแล้ว และมีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ทีมงานจึงได้ร่วมมือกันทำ
กิจกรรมกับอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ช่วยกันสร้างนโยบายชุมชน เพื่อรณรงค์การไม่
กินหวาน และลดการบริโภคน้ำอัดลม
คุณสังเวียน ตุ้ยตะคุ แกนนำ อสม. หมู่บ้านผักกาดหญ้า และทีมงาน ได้เข้ามาร่วม
ทำกิจกรรมประชุมประชาคมในตำบล มีการเชิญผู้สูงอายุทุกหลังคาเรือน หรือให้ลูกหลานที่
ดูแลผู้สูงอายุมารับฟัง ปรึกษาหารือกัน เพื่อรณรงค์ให้ผู้สูงวัยไม่กินหวาน ไม่กินน้ำอัดลม
เป็นตัวอย่างแก่ลูกหลานและชุมชน ทำให้ได้ข้อตกลง 5 ข้อ ได้แก่
ภารกิจหลักบทที่ 3 ภารกิจของ รพ.สต. 119
ข้อ 1 ผู้สูงวัยสอนลูกหลานให้แปรงฟันอย่างถูกวิธีวันละ 2 ครั้ง
ข้อ 2 ผู้สูงวัยสอนลูกหลานไม่ให้ดื่มน้ำอัดลมและขนมกรุบกรอบ
ข้อ 3 งานเลี้ยงในชุมชน ให้งดน้ำอัดลม เปลี่ยนเป็นน้ำสมุนไพร
ข้อ 4 ขอร้องร้านค้าให้งดการจำหน่ายน้ำอัดลมและขนมกรุบกรอบให้กับเด็ก
ข้อ 5 ระดมทุนหลังคาเรือนละ 2 บาทต่อเดือน สำหรับการจัดกิจกรรมร่วมกันของ
ผู้สูงอายุ
ปัจจุบันนี้ ชุมชนของบ้านผักกาดหญ้าจะเป็นแกนนำในการรณรงค์ ตั้งเป็นชมรมผู้สูง
วัยไม่กินหวาน และได้นำข้อปฏิบัติทั้ง 5 ข้อมาปฏิบัติ และขยายการดำเนินงานสู่หมู่บ้านอื่นๆ ในอำเภอลำปลายมาศต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น